การศึกษา   EDUCATION

 

 

บทความการสอนผ่านจอภาพ

โดย  ธนภัทร   ลีพุด

                                             เครือข่ายการเรียนรู้

           ระบบการศึกษาในปัจจุบันนับเป็นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต      มีเนื้อหาสาระที่ต้องเรียนรู้เป็นจำนวนมากตลอดเวลา  โดยมี การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมนุษย์  ให้เข้าสู่ระบบการสร้างบุคลากรให้คิดเป็น ทำเป็น และเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง  สามารถเข้าถึง แหล่งความรู้   และค้นหาคำตอบที่ต้องการได้ด้วยตนเองในระยะเวลาอันสั้น     โดยอาศัยระบบเครือข่ายการสื่อสาร  และเทคโนโลยีที่ทันสมัย  มีการพัฒนาเทคนิคการรับและส่งข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว

                                        ความหมายของเครือข่ายการเรียนรู้  

          หมายถึง     การเรียนรู้ในระบบคอมพิวเตอร์   เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมทางการศึกษาของมนุษย์    ทั้งในระดับประถมศึกษา   มัธยมศึกษา   อุดมศึกษา   และการศึกษาผู้ใหญ่    โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์  โปรแกรมที่ใช้ควบคุมระบบ การทำงาน  และเครือข่ายการสื่อสาร   นอกจากนี้การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนยังแตกต่างกันออกไป ตามความสามารถในการสื่อสาร ของตัวผู้เรียนเอง   และสภาวะแวดล้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลอีกด้วย

        การศึกษาในเครือข่ายการเรียนรู้ นับเป็นการศึกษาแบบอะซิงโครนัส  (Asynchronous Learning)    เป็นการเรียนการสอนที่ ไม่จำกัดเวลา  สถานที่ และบุคคล   ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนเวลาใด  สถานที่ใด  กับบุคคลใดก็ได้โดยมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบเครือข่ายภายในสถานศึกษา    และเชื่อมต่อไปสู่ระบบอินเทอร์เน็ตจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเรียนรู้ของผู้เรียน      เนื่องจากผู้เรียนมีความพร้อม   และสะดวกในการเรียนแต่ละครั้งผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากบทเรียน ออนไลน์  มีการใช้เว็บบอร์ด  ใช้ระบบมัลติมีเดียเพื่อเชื่อมการเรียน การสอนถึงกันตลอดเวลา   ทำให้เกิดการเรียนการสอนทางไกล  และการเรียนการสอนออนดีมานด์

                                      ความสำคัญของเครือข่ายการเรียนรู้   

            ปัจจุบันมีการสร้างระบบเครือข่ายการเรียนรู้กันมากขึ้น   เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดระบบการเรียน การสอน รูปแบบใหม่ในสถานบันการศึกษา เช่น   เครือข่ายภายในโรงเรียน  หรือภายในสถาบันอุดมศึกษา  และเชื่อมโยงกันระหว่าง วิทยาเขตจัดเป็นแคมปัสเน็ตเวิร์ค  ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน  เพื่อร่วมมือกันทำงานได้มากขึ้น  เป็นสื่อกลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ทั่วโลก  รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ อินทราเน็ตในการส่งข่าวสารได้

 

                                                                                          เครือข่ายการเรียนรู้   

        เมื่อนำระบบเครือข่ายการเรียนรู้เข้ามาใช้กับระบบการศึกษา  ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายใน วงการศึกษา  ทั้งในด้านรูปแบบการเรียนการสอน  บทบาทของผู้สอน  บทบาทของผู้เรียน  ดังนี้

       1. รูปแบบการเรียนการสอน    เน้นให้ผู้เรียนเป็นหลักในการแสวงหา  ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองมากขึ้นจาก แหล่งสารสนเทศต่างๆ ทั่วโลก  และจากสื่อหลากหลายประเภทนอกเหนือจากหนังสือ  รวมทั้งสามารถเลือกเวลาและ สถานที่ในการศึกษาได้เอง    และสามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้   ความชำนาญที่สนใจในการปรึกษาขอคำแนะนำได้ โดยผ่านระบบเทคโนโลยี  ซึ่งต่างจากระบบเดิมที่เน้นรูปแบบการเรียนการสอนแบบซิงโครนัส คือ  มีการจัดตารางสอน วิชาเรียน  และกำหนดสถานที่เรียนไว้  เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในโรงเรียนอย่างเต็มที่

     2. บทบาทของผู้สอน   จากระบบเดิมที่เน้นให้ครูเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอนเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ครู เป็นเพียงผู้ชี้แนะหรือเป็นที่ปรึกษาในสาขาวิชาที่สอนโดยผ่านทางเครือข่าย    ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีการสอนใหม่ๆ  ข้อมูล   และ อุปกรณ์เพื่อนำมาใช้ในการสอนอยู่เสมอ    เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยผ่านระบบ เครือข่าย

     3. บทบาทของผู้เรียน   เปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมที่นักเรียนเป็นเพียงผู้รับฟัง  และปฏิบัติตามคำสั่งของครูไม่มีโอกาส แสดงความคิดเห็นมากนัก  รับฟังความรู้ความคิดเห็นจากครูเป็นหลัก    ไปสู่ระบบที่นักเรียนต้องเป็นผู้แสวงหาด้วยตนเอง  ต้องกระตือรือร้น และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา   เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของวิทยาการ   และสนองต่อความต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้มากขึ้น  โดยมีครูเป็นเพียงที่ปรึกษา  แนะแนวทางในการศึกษาค้นคว้า

          4. บทบาทของการเรียนการสอน   มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้  โดยเฉพาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  และการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดช่องทางไปสู่แหล่งความรู้ต่างๆ ได้ทั่วโลก

    5. ห้องเรียน  สำหรับผู้สอน     ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอน คือ  เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ แสดงภาพ  วิดีโอโปรเจคเตอร์  เชื่อมเข้าสู่ระบบเครือข่าย  และระบบอินเทอร์เน็ต

     6. ศูนย์เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน     เป็นสถานที่ที่ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการ ค้นคว้า  เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายภายในสถาบันการศึกษา  รวมทั้งสามารถใช้ผ่านโมเด็มจากบ้านของผู้เรียนเข้าสู่ เครือข่ายได้ตลอด  24  ชั่วโมง

     7. ฐานบริการข้อมูลการเรียน  เป็นที่เก็บข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่อยู่ในรูปของตัวอักษร รูปภาพ  และเสียง  ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลาประกอบด้วย

        7.1 ฐานบริการเว็บ   จัดเก็บข้อมูลเนื้อหา   ตำรา  วิชาการ  ในรูปของอักษร  ภาพ  และเสียง

        7.2  ฐานบริการ Real Audio  เป็นสถานี  วิทยุเพื่อการศึกษาบนเครือข่าย

        7.3  ฐานบริการ Real Video  เป็นสถานีบริการทีวีออนดีมานด์

        7.4  ฐานบริการกระดานข่าว  (Web board)  เป็นสถานีบริการจัดแสดงข่าวสารที่บุคคลต้องการประกาศ

        7.5 Virtual library และ Digital library    เป็นระบบห้องสมุดบนเครือข่าย  เป็นแหล่งเก็บข้อมูล  ข่าวสารวิชาการต่างๆ ที่สามารถเรียกใช้งานเครือข่ายได้  และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ทั่วโลก

      8. Student Homepage  เป็นที่เก็บข้อมูล ข่าวสารของนักเรียน   และส่งการบ้านให้ครูตรวจได้โดยแจ้ง pointer บอกตำแหน่งให้ครูทราบ

                 องค์ประกอบด้านโทรคมนาคมและเครือข่ายคอมพิวเตอร์

        1. อุปกรณ์คอมพิวเตอร  (Hardware) ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นเครื่องส่วนบุคคล   หรือเครื่อง ที่อยู่ในระบบเครือข่ายก็ได้  พร้อมกับโมเด็ม    เพื่อใช้ในการติดต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายการเรียนรู้ของ สถาบัน หรือระบบอื่นๆ

        2. โปรแกรมคอมพิวเตอร (Software)  ที่ใช้ควบคุมระบบการทำงานของเครื่อง  และสามารถติดต่อโต้ตอบ กันในระบบเครือข่ายได้ เช่น  ในรูปของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)  เว็บข่าว (Web board)   และการประชุมผ่าน คอมพิวเตอร์  เป็นต้น

        3. ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม     ที่ใช้เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบเครือข่ายภายใน  และเครือข่าย ขนาดใหญ่ได้แก่ ระบบ ATM Switch,  Fast Switching, Router  และอุปกรณ์สื่อสารผ่านไมโครเวฟ  เพื่อรองรับการใช้งานใน ระบบโทรศัพท์  โทรทัศน์  วิทยุ  และการใช้งานข้อมูลข่าวสารบนเครือข่าย  ให้อยู่ในสภาพของเครือข่าย ความเร็วสูงแบบมัลติมีเดีย   มีผลให้การเชื่อมโยงระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

                  คุณลักษณะพิเศษของเครือข่ายการเรียนรู้ 

        1. สามารถเข้าถึงได้กว้างขวาง  ง่าย  สะดวก  นักเรียนสามารถเรียกข้อมูลมาใช้ได้ง่าย  และเชื่อมโยงเข้าหานักเรียนคนอื่น ได้ง่ายรวดเร็ว  และสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทุกเวลา  ทุกสถานที่ที่มีเครือข่าย

        2. เป็นการเรียนแบบร่วมกันและทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม    คุณลักษณะพื้นฐานของเครือข่ายการเรียนรู้     คือการเรียนแบบ ร่วมมือกัน  ดังนั้นระบบเครือข่ายจึงควรเป็นกลุ่มของการเรียนรู้โดยผ่านระบบการสื่อสารที่สังคมยอมรับ  เครือข่ายการเรียนรู้จึงมี รูปแบบของการร่วมกันบนพื้นฐานของการแบ่งปันความน่าสนใจ ของข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

       3. สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำมากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ

       4. ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และเน้นบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป

       5. จัดให้เครือข่ายการเรียนรู้เป็นเสมือนชุมชนของการเรียนรู้แบบออนไลน์

                                                                  เครือข่ายการเรียนรู้ในประเทศไทย

         เครือข่ายไทยสาร  เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาต่างๆ    ระดับมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันกว่า 50 สถาบัน เริ่มจัดสร้างในปีพ.ศ.2535

        เครือข่ายยูนิเน็ต   (UNINET)  เป็นเครือข่ายเพื่อการเรียนการสอนที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์    จัดทำโดยทบวง มหาวิทยาลัย ในปี  พ.ศ. 2540

         สคูลเน็ต  (SchoolNet)   เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย  ได้รับการดูแลและสนับสนุนโดยศูนย์ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  เครือข่ายนี้เชื่อมโยงโรงเรียนในประเทศไทยไว้กว่า  100  แห่ง และเปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ และบุคคลที่สนใจเรียกเข้าเครือข่ายได้

        เครือข่ายนนทรี  เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นับเป็นเครือข่ายที่สมบูรณ์แบบและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สามารถตอบสนองความต้องการใช้ของนิสิต อาจารย์ ข้าราชการ  ตลอดจนการรองรับทางด้านทรัพยากรเซอร์เวอร์อย่างพอเพียง

                                             สรุป

        การนำระบบเครือข่ายการเรียนรู้มาใช้ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอน   จากระบบเดิมที่จำกัดอยู่เฉพาะภายใน สถานศึกษา    ไปสู่ระบบที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน      โอกาสในการเรียนรู้และการแสดงผลข้อมูลที่ต้องการซึ่ง โครงสร้างการศึกษาในระบบเดิมถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว   ด้วยระบบการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ใหม่ๆ  ดังนั้น รูปแบบเครือข่ายการเรียนรู้ในอนาคต     จะมีลักษณะเป็นรูปแบบการศึกษา แบบใหม่  ที่สนองความต้องการ   และให้อำนาจแก่ ผู้สอนและผู้เรียนในการเลือกลักษณะการเรียนรู้ด้วยตัวเองตามความพร้อม  และความสะดวกในการเรียน  ซึ่งถือเป็นการสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาทั้งในด้าน  รูปแบบ  ขั้นตอนการเรียนการสอนและการปฏิบัติ

                                                                        

                                                                         

                                                                                          [Hit Counter]